เลือดออกในทางเดินอาหาร

ระบบทางเดินอาหารเป็นระบบที่สำคัญระบบหนึ่งของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยอาหาร และลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยภายในทางเดินอาหารของมนุษย์ประกอบไปด้วยหลอดเลือดต่างๆ มากมาย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันที ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ระบบทางเดินอาหารมีความยาวมาก ซึ่งภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น เริ่มตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนกลาง คือ ลำไส้เล็ก และเลือดออกทางเดินในอาหารส่วนปลาย คือ ลำไส้ใหญ่จนถึงทวาร โดยส่วนมากจะพบภาวะเลือดออกในส่วนต้นและส่วนปลาย ส่วนกลางมีพบบ้างแต่ไม่มากนัก

เลือดออกในทางเดินอาหาร

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้น เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ การกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาแก้ปวดข้อต่างๆ) ยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้รักษาโรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นได้ นอกจากนี้หากผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับแข็งก็มีผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดในกระเพาะอาหาร และมีอาการเลือดออกที่รุนแรงได้เช่นกัน

สำหรับภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วยปลายมีหลายสาเหตุ เช่น ภาวะกระเปาะในลำไส้ เลือดผิดปกติในทางเดินอาหาร หรือเนื้องอกในลำไส้ ก็ทำให้เกิดเลือดออกได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่อาจจะทำให้พบว่าเลือดออกทางเดินอาหารส่วยปลาย ที่สำคัญนอกจากการกินยาข้างต้นแล้ว การที่มีภาวะท้องผูก ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกได้เช่นกัน

อาการ

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น จะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำสนิทคล้ายกับสีของเฉาก๊วย ส่วนเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลายจะมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมกับอาการท้องผูก

“เลือดออกในทางเดินอาหาร” อันตรายที่ต้องระวัง
การวินิจฉัย

นอกจากการซักประวัติแล้ว แพทย์ก็จะทำการส่องกล้องทางเดินอาหาร ถ้าเป็นทางเดินอาหารส่วนบนก็จะส่องกล้องบริเวณกระเพาะอาหาร ก็จะช่วยในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอะไร เป็นแผล เส้นเลือดขอด หรือเป็นเนื้องอก จากการส่องกล้องก็จะสามารถประเมินได้ว่าแผลลักษณะแบบนี้จะมีโอกาสในการเกิดเลือดออกซ้ำมากน้อยแค่ไหน ก็จะได้ทำการรักษา เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยความร้อน เป็นต้น

ส่วนการวินิจฉัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลาย แพทย์ก็จะส่องกล้องบริเวณลำไส้ใหญ่ เพื่อวิเคราะห์รอยโรคนั้นๆ เช่น เนื้องอก การมีเลือดออกจากเส้นเลือดในลำไส้ใหญ่ เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำต่อไป

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีที่คนไข้มีเลือดออกมาก ร่างกายเสียเลือดมาก ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ร่วมกับการที่คนไข้มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดต่างๆ ก็ทำให้มีอาการแย่ลงได้ กล่าวคือทำให้โรคประจำตัวกำเริบ และมีอันตรายกว่าคนปกติทั่วไป

คนไข้ที่เกิดเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารเนื่องจากโรคตับแข็งอยู่แล้ว ก็จะทำให้การทำงานของตับแย่ลง และเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น

การรักษา

การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร จะเป็นการรักษาตามสาเหตุ เช่น

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะให้ยารักษาแผล ส่วนใหญ่ก็เป็นยาลดกรด แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อ เมื่อกำจัดเชื้อเรียบร้อยแล้วก็จะลดการเป็นซ้ำลงได้

การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่เกิดจากการกินยาแก้ปวด ก็ต้องลดการใช้ยาแก้ปวด หรือคนไข้ที่ต้องกินยาต้านเกล็ดเลือด ก็ต้องให้ยาควบคู่กันไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผล

การรักษาภาวะเลือดออกที่เกิดมาจากโรคตับแข็ง ก็ต้องรักษาโรคตับแข็ง ลดความดันในตับ เพื่อให้เกิดเลือดออกซ้ำน้อยลง

การป้องกัน

1. คนไข้ที่กินยาแก้ปวด ยาต้านเกล็ดเลือด ไม่ควรซื้อยามากินเอง โดยเฉพาะยากลุ่มแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก หรือกลุ่มยาสมุนไพรต่างๆ ยาอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน

2. ถ้ามีอาการปวดท้องบ่อยๆ ก็อาจจะเป็นสัญญาณของแผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังได้ หรือโรคดติดเชื้อในกระเพาะอาหาร อาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกตามมาได้ ต้องดูแลรักษาอาการปวดท้องให้หายดี

3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากกระตุ้นให้เกิดแผลได้เช่นกัน

4. หลีกเลี่ยงการกินเหล้า เพราะทำให้เป็นโรคตับแข็ง

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารนับเป็นภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากคนไข้แต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสจะเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น หากมีอาการดังที่กล่าวไป จึงควรรีบพาคนไข้ไปโรงพยาบาลทันที ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ cornerstoneumcwat.com